วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีไทย

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ/ชิงเปรต

ประเพณีวันสารทเดือนสิบ"วันสารทเดือนสิบ" เป็นการทำบุญกลางเดือนสิบเพื่อนำเครื่องอุปโภคและเครื่องบริโภคไปถวายพระ เป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษของตน

วัตถุประสงค์
เพื่ออุทิศส่วนบุญแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ภาษาบาลีว่า "เปตชน" ภาษาชาวบ้านว่า "เปรต" ซึ่งหมายถึง ผู้ที่รับความทุกข์ทรมานจากวิบากแห่งบาปกรรมที่ทำไว้ในเมืองมนุษย์ เมื่อตายไปจึงเป็นเปรตตกนรก อดอยากยากแค้น คนข้างหลังจึงต้องทำบุญอุทิศให้ปีละครั้งเป็นการเฉพาะ

ความเชื่อ
พุทธศาสนิกชนเชื่อว่า บรรพบุรุษได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความดีไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไปเปิดในสรวงสวรรค์ แต่หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศกุศลไปให้ในแต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์ เพื่อมาขอส่วนบุญจากลูกหลาน แล้วจะกลับไปนรกในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 

ขั้นตอนการจัดหมรับ
การจัดหมรับ (หรือ สำรับ) มักจะจัดขั้นตอนการจัดหมรับเฉพาะครอบครัว หรือจัดร่วมกันในหมู่ญาติ และจัดเป็นกลุ่ม ภาชนะที่ใช้จัดหมรับใช้กระบุงหรือเข่งสานด้วยตอกไม้ไผ่
การจัดหมรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหารขนมเดือนสิบลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้เป็นชั้นๆ ดังนี้
1. ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ก้นภาชนะ
2. ชั้นที่สอง บรรจุอาหารประเภท พืช ผัก ที่เก็บได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นล่างสุด
3. ชั้นที่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ชั้นที่สี่ ใช้บรรจุและประดับประดาด้วยขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบเป็นหัวใจของหมรับ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง(ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมเหล่านี้มีความหมายในการทำบุญเดือนสิบซึ่งขาดเสียมิได้เพื่อให้บรรพบุรุษและผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์
การยกหมรับ
วันแรม 15 ค่ำ ชาวบ้านจะนำหมรับที่จัดเตรียมไว้ ไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่วัดโดยเลือกวัดที่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย วันนี้เรียกว่า "วันยกหมรับ"
การฉลองหมรับและการบังสุกุล
วันแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสารทเรียกว่า "วันฉลองหมรับ" มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปเมืองนรก นับเป็นสำคัญยิ่งวันหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าหากไม่ได้ทำพิธีกรรมในวันนี้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วจะไม่ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลทำให้เกิดทุกขเวทนาด้วยความอดยาก ลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ก็กลายเป็นคนอกตัญญูไป
การตั้งเปรตและการชิงเปรต
เสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้ว ก็นิยมนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ที่ลานวัด โคนไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัด เรียกว่า "ตั้งเปรต" เป็นการแผ่ส่วนกุศุลให้เป็นสาธารณทานแก่ผู้ที่ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญให้ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ชาวบ้านก็จะแย่งชิงขนมที่ตั้งเปรตไว้ เรียกว่า"ชิงเปรต" ถือว่าผู้ที่ได้กินขนมจะได้บุญ

แหล่งที่มา


แห่นก ชายแดนใต้จังหวัดปัตตานี


    เป็นประเพณีไทยพื้นเมือง ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งได้กระทำสืบเนื่องกันมาเป็นเวลานาน จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาสเพื่อความสนุกรื่นเริง เป็นประเพณีที่แสดงออกเกี่ยวกับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะ และอาจจัดขึ้นในโอกาสเพื่อเป็นการแสดงคารวะ แสดงความจงรักภักดีแก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจะจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุหนัด หรือที่เรียกว่า “มาโซะยาวี” หรือจัดขึ้นเพื่อการประกวดเป็นครั้งคราว
   จากตำนานบอกเล่ากล่าวถึงความเป็นมาของประเพณีแห่นกว่าเริ่มที่ยาวอ (ชวา) กล่าวคือ มีเจ้าผู้ครองนครแห่งยาวอพระองค์หนึ่ง มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ พระธิดาองค์สุดท้องทรงเป็นที่รักใคร่ของพระบิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รับการเอาอกเอาใจทั้งจากพระบิดาและข้าราชบริพาร ต่างพยายามแสวงหาสิ่งของและการละเล่นมาบำเรอ ในจำนวนสิ่งเหล่านี้มีการจัดทำนกและจัดตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วมีขบวนแห่แหนไปรอบ ๆ ลานพระที่นั่ง เป็นที่พอพระทัยของพระธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงโปรดฯ ให้มีการจัดแห่นกถวายทุก  7 วัน
   อีกตำนานหนึ่งว่า ชาวประมงได้นำเหตุมหัศจรรย์ที่ได้พบเห็นมาจากท้องทะเลขณะที่ตระเวนจับปลามา เล่าว่า พวกเขาได้เห็นพญานกตัวหนึ่งสวยงามอย่างมหัศจรรย์ ผุดขึ้นมาจากท้องทะเลแล้วบินทะยานขึ้นสู่อากาศแล้วหายลับไปสู่ท้องฟ้า พระยาเมืองจึงซักถามถึงรูปร่างลักษณะของนกประหลาดตัวนั้น ต่างคนต่างก็รายงานแตกต่างกันตามสายตาของแต่ละคน พระยาเมืองตื่นเต้นและยินดีมาก ลูกชายคนสุดท้องก็รบเร้าจะใคร่ได้ชม พระยาเมืองจึงป่าวประกาศรับสมัครช่างผู้มีฝีมือหลายคนให้ประดิษฐ์รูปนกตามคำ บอกเล่าของชาวประมงซึ่งได้เห็นรูปที่แตกต่างกันนั้น ช่างทั้งหลายประดิษฐ์รูปนกขึ้นรวม 4 ลักษณะ คือ
1.นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ นกชนิดนี้ตามการสันนิษฐานน่าจะเป็น “นกการเวก” เป็นนกสวรรค์ที่สวยงามและบินสูงเทียมเมฆ การประดิษฐ์มักจะตกแต่งให้มีหงอนสูงแตกออกเป็นสี่แฉก นกชนิดนี้ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “นกทูนพลู” เพราะบนหัวมีลักษณะคล้ายบายศรีพลูที่ประดับในถาดเวลาเข้าขบวนแห่ ทำเป็นกนกลวดลายสวยงามมาก มักนำไม้ทั้งท่อนมาแกะสลักตานก แล้วประดับด้วยลูกแก้วสี ทำให้กลอกกลิ่งได้ มีงายื่นออกมาจากปากคล้ายงาช้างเล็ก ๆ พอสมกับขนาดของนก
2.นกกรุดาหรือนกครุฑ มีลักษณะคล้ายกับครุฑที่เห็นโดยทั่วไป
3.นกบือเฆาะมาศหรือนกยูงทอง มีลักษณะคล้ายกับนกกาเฆาะซูรอมาก การประดิษฐ์ตกแต่งรูปนกพญายูงทองนั้น ต้องทำกันอย่างประณีตถี่ถ้วน และใช้เวลามาก 
4.นกบุหรงซีงอหรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ ตามคตินกนี้มีหัวเป็นนกแต่ตัวเป็นราชสีห์ ตามนิทานเล่ากันว่ามีฤทธิ์มาก ทั้งเหาะเหินเดินอากาศ และดำน้ำได้ ปากมีเขี้ยวงาน่าเกรงขาม
    ในการประดิษฐ์นกนิยมใช้ไม้เนื้อเหนียว เช่น ไม้ตะเคียน ไม้กายีร นำมาแกะเป็นหัวนก เนื้อไม้เหล่านี้ไม่แข็งไม่เปราะจนเกินไป สะดวกในการแกะของช่าง ทั้งยังทนทานใช้การได้นานปี สำหรับตัวนกจะใช้ไม้ไผ่ผูกเป็นโครง ติดคานหาม แล้วนำกระดาษมาติดรองพื้น ต่อจากนั้นก็ตัดกระดาษสีเป็นขน ประดับส่วนต่าง ๆ สีที่นิยมได้แก่ สีเขียว สีทอง (เกรียบ) สีนอกนั้นจะนำมาใช้ประดับตกแต่งเพื่อให้สีตัดกันแลดูเด่นขึ้น

แหล่งที่มา

http://xn--k3chbgks4ae1jybbf4lnc8bc.blogspot.com/search/label/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%93%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น